เคาะ 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67


    การประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาวะเอลนีโญในประเทศไทยอ่อนกำลังลง และมีโอกาสจะเปลี่ยนไปสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม นี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 จำนวน 10 มาตรการ ตามที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ ที่ประชุมได้ มีการเน้นย้ำว่า น้ำท่วม 1 ปี ได้สร้างความเสียหาย มากกว่าน้ำแล้งถึง 10 ปี จึงอยากให้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรม และตรงจุดตั้งแต่ต้นเหตุ และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 67/68 โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบ
ร่าง 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 
1.    คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง 
2.    ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ 
3.    เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง และศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง 
4.    ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ 
5.    เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ 
6.    ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ 
7.    เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน 
8.    สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ 
9.    การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์
10.    ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย 
สทนช.สั่งติดตามสถานการณ์ปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เผยด้วยว่า ระยะนี้ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน และปริมาณฝนจะค่อย ๆ ลดลงในวันที่ 30 มีนาคม ก่อนจะมีแนวโน้มที่ฝนจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายน และปริมาณฝนจะเริ่มตกมาก ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม แต่คาดอาจจะเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงได้ ประมาณเดือนกรกฎาคม จึงให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
กำชับ 9 มาตาการรองรับฤดูแล้ง ปี 66/67
    สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทุกหน่วยงานได้ดำเนินการตาม 9 มาตรการ อย่างเคร่งครัด เร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านน้ำแบบเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบให้ประชาชนในทุกพื้นที่ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เสนอปรับแผนการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง จากแผนเดิม 5,600 ล้าน ลบ.ม. ปรับแผนเป็น 7,700 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกข้าวรอบที่ 2 (นาปรัง) มากกว่าแผนที่กำหนด จากการประเมินแผนที่เสนอขอปรับแผนฯ ใหม่ พบว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนและมีเพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 67 และฤดูแล้ง ปี 67/68 พร้อมให้ติดตามสถานการณ์การจัดสรรน้ำ และการเพาะปลูกข้าวนาปรังอย่างใกล้ชิด และงดส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงฤดูฝนนี้ต่อเนื่องช่วงฤดูแล้งหน้า 
*******************
#เคาะ 10 มาตรการรับมือฝนปี67 #สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ #สำนักนายกรัฐมนตรี #กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ #นโยบายรัฐบาล20กระทรวง 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
Tag