สิทธิบัตรทองเฮ! บอร์ด สปสช.เห็นชอบ “รักษาภาวะมีบุตรยากหนุนวาระแห่งชาติส่งเสริมการมีบุตร”

สิทธิบัตรทองเฮ! บอร์ด สปสช.เห็นชอบ “รักษาภาวะมีบุตรยากหนุนวาระแห่งชาติส่งเสริมการมีบุตร”
จากรายงานสถานการณ์เด็กเกิดใหม่ในประเทศไทย พบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี ๒๕๐๖-๒๕๒๖ มีเด็กเกิดใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ ๑ ล้านคน แต่ในปี ๒๕๖๕ จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเกือบห้าแสนคน ขณะที่อัตราเจริญพันธุ์เหลือเพียง ๑.๐๘ กลายเป็นวาระที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันเร่งแก้ปัญหา ในส่วนของรัฐบาลเอง โดย กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบาย Quick win ๑๐๐ วัน เพื่อส่งเสริมการมีบุตรที่ขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ข้อมูลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี ๒๕๖๒-๒๕๖๖ มีผู้มีสิทธิที่เข้ารับบริการด้วยวินิจฉัยภาวะการมีบุตรยากอยู่ประมาณ ๓,๐๐๐-๓,๕๐๐ ราย/ปี 
ล่าสุด  คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงได้หนุนวาระแห่งชาติ“ส่งเสริมการ
มีบุตร” นำร่อง ๓ ปี โดยให้“บริการรักษาภาวะมีบุตรยาก”ในระบบบัตรทอง ๓๐ บาท เน้นให้บริการตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ให้คำปรึกษา ให้ยากระตุ้นไข่ และเด็กหลอดแก้ว สำหรับหญิงไทยสิทธิบัตรทอง อายุ ๓๐–๔๐ ปี มีคู่สมรสและจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และเป็นผู้ภาวะมีบุตรยากและต้องการมีบุตร 
           ซึ่งการบริการรักษาภาวะมีบุตรยากมี ๓ ระดับด้วยกัน ดังนี้ 
ระดับที่ ๑ ให้คำปรึกษาแนะนําปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ และการรักษาโรคประจําตัวหรือส่งต่อเพื่อค้นหาสาเหตุและรักษาสาเหตุที่ตรวจพบบริการระดับ ๑ สามารถให้บริการโดยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ซึ่งหากภายใน ๖-๑๒ เดือนไม่ได้ผลหรือเกิน ๑๒ เดือน ตามแพทย์เห็นสมควรเว้นวรรคให้เข้าสู่บริการระดับถัดไป
ระดับที่ ๒ (๒.๑) ให้ยากระตุ้นไข่และยาเหนี่ยวนําการตกไข่และ (๒.๒) การกระตุ้นไข่และการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง ซึ่งสูตินรีแพทย์ในโรงพยาบาลทั่วไปจะเป็นผู้ให้บริการไม่เกิน ๓ ครั้ง หากในระยะเวลา  ๖-๑๒ เดือนไม่ได้ผล ให้เข้าสู่ระดับถัดไป โดยทั่วประเทศมีหน่วยบริการที่ให้การรักษาจำนวน ๔๐ แห่ง ใน ๓๘ จังหวัด
ระดับที่ ๓ ทำเด็กหลอดแก้ว โดยวิธีการย้ายตัวอ่อน ๑-๒ ครั้ง ให้บริการโดยสูตินรีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการรัฐที่ให้บริการ จำนวน ๑๗ แห่ง ในจำนวนนี้เป็น รพ.สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ๓ แห่ง  ซึ่งในกรณีของการทำเด็กหลอดแก้ว จะให้การดูแลเฉพาะผู้ที่มีข้อห้ามในการรักษาด้วยวิธีการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูกโดยตรง   
    บอร์ด สปสช. ได้มอบสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดมาตรการการคัดกรองผู้ที่จะได้รับการรักษาภาวะมีบุตรยาก จัดระบบกำกับติดตามประเมินผลอย่างรอบด้าน และรายงานคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้ประสานคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อพิจารณายากระตุ้นไข่และยาเหนี่ยวนำการตกไข่เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงประสานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดำเนินการกำหนดให้มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรและให้คำปรึกษาแก่ผู้มีบุตรยาก ในทุกโรงพยาบาลและทุกระดับ พัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยเฉพาะการขยายบริการไปจนถึงโรงพยาบาลชุมชนให้สามารถดำเนินการได้ถึงระดับที่ ๒ รวมทั้งระบบการส่งต่อระหว่างเขตสุขภาพเพื่อให้ระบบบริการมีความเสมอภาคและประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนพัฒนาระบบการลงทะเบียนการรักษาภาวะมีบุตรยาก เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันระดับประเทศและใช้ในการวางแผนนโยบายในระยะยาว โดยหลังจากนี้ สปสช.จะเร่งดำเนินการตามรายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้สามารถเริ่มใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้ในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่า มีผู้ใช้สิทธิ จำนวน ๔,๑๕๐ คน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. ๑๓๓๐ ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือ  Facebook : https://www.facebook.com/NHSO.Thailand 
*****************
 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar
Tag